Last updated: 29 ส.ค. 2567 | 14 จำนวนผู้เข้าชม |
ประโยชน์ของการจัดสวน
ทำสวนอาจเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่หลายคนชื่นชอบ ถือเป็นการใช้เวลาว่างท่ามกลางต้นไม้และธรรมชาติที่ร่มรื่น ทำให้รู้สึกผ่อนคลายและสบายใจ แต่รู้หรือไม่ว่าการทำสวนมีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิตใจ และทำให้คนในครอบครัวได้ใช้เวลาว่างทำกิจกรรมร่วมกันอีกด้วย
การทำสวนสามารถทำได้หลายรูปแบบ และอาจไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ โดยทั่วไป คนนิยมจัดสวนเพื่อความสวยงาม น่าอยู่ และร่มรื่นให้กับบ้าน หรือบางคนอาจเลือกปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อรับประทานในครอบครัว บทความนี้จะบอกเล่าถึงประโยชน์ของการทำสวนที่คุณอาจยังไม่เคยรู้ และข้อควรปฏิบัติในการทำสวนอย่างปลอดภัย
ทำให้จิตใจได้รับการพักผ่อนและเยียวยา
ธรรมชาติเช่นต้นไม้มีผลทำให้จิตใจของคนเราผ่อนคลายและได้รับการเยียวยา ในชีวิตประจำวันที่เร่งรีบและมีปัญหาต่าง ๆ รุมเร้า คนเราย่อมต้องการการผ่อนคลายและต้องการความสุขง่าย ๆ ที่ไม่ต้องไขว่คว้าพยายามมากนัก การจัดสวนทำให้เราได้รับทั้งการใกล้ชิดต้นไม้ ได้อยู่บ้านและทำกิจกรรมให้เพลิดเพลินชมนกชมไม้ จัดแต่งต้นไม้นับว่าเป็นความสุขเรียบง่ายที่ช่วยเยียวยาใจได้อย่างดี
สร้างบรรยากาศบ้านให้สดชื่น
บ้านที่แห้งแล้งมีแต่สิ่งปลูกสร้างนั้นคงจะไม่น่าอยู่ท่ากับบ้านที่ร่มรื่นไปด้วยธรรมชาติต้นไม้ มองไปทางไหนก็พบกับสีเขียวเย็นตา คุณเองก็เนรมิตมุมมองสีเขียวทั่วบ้านได้ด้วยการจัดสวนด้วยตัวเอง
เปิดประตูสู่สวนคลายเครียดด้วยหลักการออกแบบสวนที่เรียกว่า “Therapeutic Garden” หรือการจัดสวนเพื่อบำบัดโดยใช้ธรรมชาติเป็นตัวช่วย
โดยมีการปรับสมดุลของร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่น่าสนใจ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสวนของคุณได้ง่าย ๆ เพราะจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์ ประเทศสหราชอาณาจักร พบว่าความเครียดของคนเราสามารถลดลงได้ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง ด้วยตัวอย่างรูปแบบวิธีการ ดังนี้
เลือกใช้พรรณไม้ที่ให้สัมผัสที่ดีแก่ประสาทสัมผัสทั้ง 5
ดร.โนอาห์ เลคซิน นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยบัลติมอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าภาพและเสียงจากธรรมชาติช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและลดความกังวลของผู้ป่วยลงได้ โดยภายในสวนอาจจัดแต่งให้มีสัดส่วนที่ใช้พรรณไม้ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ และงานฮาร์ดสเคปอีก 30 เปอร์เซ็นต์ เพื่อสร้างความรู้สึกผ่อนคลายแก่ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ซึ่งมีส่วนช่วยบรรเทาความเครียดสะสมจากวิถีชีวิตคนเมืองที่เร่งรีบ
ประสาทสัมผัสการมองเห็น การเลือกใช้พรรณไม้สำหรับการมองเห็นถือเป็นโจทย์พื้นฐานที่การจัดสวนทุกประเภททำกันอยู่แล้ว ทั้งการเลือกใช้พรรณไม้ที่ให้สีสันจากดอกหรือใบตัดกันสวยงาม เพื่อกระตุ้นการมองเห็นและการรับรู้ถึงความตื่นตัวได้มากกว่าสีโทนเดียวที่ให้ความรู้สึกนิ่งและทึบตัน
การเลือกโทนสีเย็น เช่น เขียว ฟ้า น้ำเงิน ม่วง นั้นให้ความรู้สึกสงบ ส่วนการใช้โทนสีร้อน เช่น แดง เหลือง ชมพู ส้ม ก็ให้ความรู้สึกสดใส เบิกบาน กระปรี้กระเปร่า เมื่อนำพรรณไม้ในสองโทนสีนี้มาปลูกผสมกันก็ ควรจัดให้เป็นกลุ่มๆ และมีระยะห่าง เพื่อเวลามองจะยังรู้สึกโปร่ง และดูไม่อึดอัดจนเกินไป
ประสาทสัมผัสการได้กลิ่น เซลล์รับกลิ่นจะเชื่อมต่อโดยตรงกับสมอง กลิ่นหอมในธรรมชาติส่วนใหญ่มักทำให้รู้สึกผ่อนคลาย กลิ่นธรรมชาติหรืออากาศสะอาดทำให้มนุษย์รู้สึกสดชื่น เช่นเดียวกับกลิ่นไม่พึงประสงค์หรือเป็นพิษก็ทำให้มนุษย์รู้สึกเครียดได้ ต้นไม้หลายชนิดในบ้านเรามีกลิ่นหอม ทั้งชนิดที่ส่งกลิ่นตลอดทั้งวันและส่งกลิ่นในบางช่วงเวลาอย่างตอนเช้าหรือตอนกลางคืน โดยมีทั้งกลิ่นหอมที่มาจากใบ เช่น เตยหอม มินต์ ทาร์รากอน โรสแมรี่ และกลิ่นที่มาจากดอก เช่น มะลิ จำปีสายหยุด เล็บมือนาง พืชบางชนิดมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรด้วย เช่น กลิ่นมินต์ช่วยกระตุ้นความตื่นตัว กลิ่นกุหลาบช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย บรรเทาความอ่อนเพลียและแก้ปวดหัว กลิ่นกระดังงาช่วยให้หลับง่ายและลดอาการซึมเศร้า โดยต้องเลือกบริเวณปลูกที่คนสามารถเดินผ่านหรือนั่งเล่นพักผ่อนเพื่อสูดกลิ่นได้เต็มที่ตามต้องการ
ประสาทสัมผัสการลิ้มรส ผักสวนครัวหรือไม้กินได้ในบ้านเรามีอยู่เป็นจำนวนมากและหลากหลายชนิด สามารถปลูกหมุนเวียนผลัดกันเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นชนิดกินผล กินใบ กินหัว หรือกินดอก การเดินชมสวนไปพร้อมกับเก็บเกี่ยวผลผลิตเล็ก ๆ น้อย ๆ ช่วยเติมเต็มความสุขในการพักผ่อนและสร้างอรรถรสในการลิ้มรสชาติผลผลิตในสวน ต้นไม้ที่เราสามารถเก็บผลผลิตมารับประทานได้เลยและออกผลผลิตอยู่เสมอ เช่น หญ้าหวาน หม่อน กล้วย ผักคอส มะเขือเทศ อัญชัน ฯลฯ แต่ไม่ควรใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายกับสวน เพื่อป้องกันสารพิษที่จะตกค้างมาสู่ร่างกายของเราได้
ประสาทสัมผัสผ่านผิวสัมผัส ต้นไม้ให้ผิวสัมผัสที่หลากหลายจากผิวลำต้น ทรงพุ่ม หรือใบ ไม่ว่าจะขรุขระ เรียบ หรือมัน การที่เราเข้าไปใช้งานในสวนและสัมผัสส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้จึงช่วยกระตุ้นการรับรู้และเข้าถึงธรรมชาติในสวนได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีศาสตร์ของจีนโบราณที่ส่งเสริมให้คนเดินเท้าเปล่าบนพื้นกรวดหรือสนามหญ้าสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ช่วยในการทรงตัว รักษาสมดุลในร่างกาย และช่วยให้ความดันโลหิตเป็นปกติ โดยเฉพาะการเดินบนสนามหญ้านุ่ม ๆ ชุ่มน้ำค้างในช่วงเช้า ยังทำให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ช่วยกระตุ้นและเสริมสร้างเซลล์ประสาทได้ดี
สร้างสภาวะน่าสบาย
อุณหภูมิที่พอเหมาะกับการอยู่อาศัยและรู้สึกผ่อนคลายที่สุดอยู่ในช่วง 18-25 องศาเซลเซียส ถ้ามากหรือน้อยกว่านี้จะทำให้รู้สึกเครียด ไม่สบายตัว หรือเป็นอันตรายกับมนุษย์ เช่นเดียวกับความชื้นสัมพัทธ์ที่มนุษย์รู้สึกสบายจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 40 % RH – 60 % RH ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเราอยู่ในอุณหภูมิที่ 18-25 องศาเซลเซียสนั่นเอง
ในสวนที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 18 องศาเซลเซียส แต่หากมีค่าความชื้นสัมพัทธ์มากกว่า 60 % RH ก็ทำให้อากาศในสวนเกิดไอน้ำมาก เกิดคราบน้ำหรือละอองน้ำจำนวนมากเกาะอยู่ตามสิ่งต่าง ๆ และผิวของมนุษย์ ส่งผลให้วัสดุที่เป็นผ้าและพรมมีความชื้นสะสม ก่อให้เกิดเชื้อราและแบคทีเรียได้ง่าย และอาจทำให้เครื่องใช้ภายในสวนเสียหาย ไปจนถึงเกิดปัญหาทางสุขภาพได้ เพราะเราจะเริ่มรู้สึกไม่สบายตัว
การใช้ร่มเงาจากต้นไม้ใหญ่ช่วยลดอุณหภูมิจากแสงแดดได้ โดยเลือกไม้ยืนต้นที่มีลำต้นสูงขึ้นไปแผ่กิ่งก้านด้านบนจะเหมาะสมที่สุด เพื่อให้ลมฤดูร้อนสามารถพัดผ่านโคนต้นช่วยบรรเทาความร้อนได้ ไม่ควรปลูกต้นไม้หลายระดับขวางลมทิศใต้ ซึ่งเป็นทิศทางของกระแสลมหลักของเมืองไทย ควรปลูกต้นไม้หลายระดับทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ และทิศตะวันตกที่แดดค่อนข้างแรงและทำมุมเฉียง ร่วมกับการใช้วัสดุที่ช่วยสะสมความชื้น เพื่อไม่ให้อากาศแห้งจนเกินไปอย่างอิฐมอญ กรวดแม่น้ำ หรือหินฟองน้ำ ร่วมกับระบบสปริงเกลอร์แบบพ่นหมอก
จัดการนั่งให้สบาย
การนั่งพักผ่อนหรือนั่งทำงานในสวนช่วยลดปัญหาสุขภาพได้ โดยปรับระดับความสูงของโต๊ะและเก้าอี้ให้พอดีกับระดับสายตา ใช้เก้าอี้ที่มีที่วางแขนเพื่อประคองข้อศอก และสามารถปรับระดับให้นั่งโดยงอเข่าทำมุม 90 องศากับพื้นขณะนั่งทำงานบนโต๊ะและปรับให้เอนหลังได้เมื่อต้องการหลับหรือพักผ่อน ปล่อยแขนขนานกับพื้น บริเวณเอวอาจหาหมอนหรือวัสดุนุ่มรองรับ หากต้องนั่งทำงาน เล่นคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือเป็นระยะเวลานาน ทุก 1 ชั่วโมงควรหาโอกาสพักสัก 5 นาที วัสดุที่ใช้ทำที่นั่งควรเป็นวัสดุที่เป็นธรรมชาติ เช่น ไม้ หวาย หรือผ้า เพื่อให้สัมผัสที่อบอุ่นและเป็นธรรมชาติมากกว่าวัสดุที่ทำจากพลาสติกหรือโลหะ
งานฮาร์ดสเคปที่เหมาะสม
ขนาดและรูปทรงทำให้มนุษย์มีความรู้สึกต่างกันไป เช่น ขนาดใหญ่และกว้างทำให้มนุษย์รู้สึกเหงาและกังวล ส่วนขนาดเล็กและแคบทำให้มนุษย์รู้สึกอึดอัดและเครียด เราควรเลือกขนาดและรูปทรงให้สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมในการทำกิจกรรมนั้น ๆ เช่น พื้นที่ที่มีขนาดเพียงพอให้คนสามารถอยู่ห่างกันได้ในระยะ 2 เมตร เพื่อให้รู้สึกปลอดภัยจากการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 และยังส่งผลในเชิงจิตวิทยาแก่ผู้คนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน จะได้ไม่รู้สึกอึดอัด
นอกจากนี้การเลือกใช้วัสดุที่แตกต่างและเหมาะสมยังช่วยปกป้องมนุษย์จากอันตรายภายนอกได้ ทั้งยังส่งผลต่อการควบคุมอุณหภูมิ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ เช่น ผิวสัมผัสเรียบจะให้ความรู้สึกปลอดภัยและเป็นมิตรมากกว่าผิวสัมผัสขรุขระ วัสดุที่เกิดเงาสะท้อนทำให้ขนาดพื้นที่ดูโล่งและกว้างมากขึ้น สีของวัสดุที่ต่างกันก็กำหนดขนาดพื้นที่และสร้างความเป็นส่วนตัวหรือแบ่งพื้นที่ได้ วัสดุที่ทึบจะให้ความรู้สึกปลอดภัยแต่ก็รู้สึกอึดอัดไปด้วยพร้อม ๆ กัน
ทำให้สุขภาพดี
การจัดสวนก็เป็นทั้งการออกกำลังไปด้วยในตัว เวลาที่เราเดินชมสวน ยกกระถางต้นไม้ พรวนดิน ตัดกิ่ง เราได้ออกกำลังในที่โล่งและมีอากาศดี ๆ สุขภาพก็จะแข็งแรงดีกว่าอุดอู้อยู่แต่ในบ้าน
ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง
หลายคนทราบดีว่าการออกกำลังกายช่วยให้สุขภาพแข็งแรง การทำสวนจัดเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ช่วยให้เราได้เคลื่อนไหวร่างกายพร้อมกับสูดอากาศสดชื่น ผลการวิจัยหนึ่งพบว่าการทำสวนเป็นเวลา 12 สัปดาห์ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้น เพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ รวมทั้งช่วยลดความดันโลหิตและระดับคอเลสเตอรอลได้
การทำสวนเป็นเหมือนการออกกำลังกายแบบแอโรบิก (Aerobic Exercise) แบบหนึ่งที่ทำให้ร่างกายหายใจเอาออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายเพื่อเผาผลาญพลังงาน โดยการทำสวนในบ้าน เช่น การตัดเล็มกิ่งไม้ รดน้ำต้นไม้ การตัดหญ้าโดยใช้เครื่องตัดหญ้า และการกวาดใบไม้ จัดเป็นการออกกำลังกายในระดับปานกลาง (Moderate Intensity) ที่ไม่หนักจนเกินไป และเหมาะกับคนทุกช่วงวัย
เสริมสร้างความแข็งแรงของหัวใจ
การทำสวนเป็นกิจกรรมหนึ่งในการออกกำลังกายแบบแอโรบิกที่ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ลดความดันโลหิต ป้องกันความเสี่ยงของโรคหัวใจขาดเลือด หัวใจขาดเลือด (Heart Attack) และโรคหลอดเลือดสมอง สมาคมโรคหัวใจสหรัฐอเมริกา (American Heart Association) จึงแนะนำให้คนทั่วไปออกกำลังกายแบบความหนักปานกลางเป็นเวลา 150 นาทีต่อสัปดาห์ เพื่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพหัวใจที่แข็งแรง
ช่วยในการทำงานของสมอง
การใช้เวลาอยู่กับต้นไม้และพืชพรรณต่าง ๆ ในสวนมีส่วนช่วยพัฒนาการทำงานของสมองและช่วยเสริมสร้างความจำให้ดีขึ้น โดยมีงานวิจัยระบุว่า การทำสวนวันละ 20 นาทีเป็นประจำอาจช่วยเพิ่มปัจจัยช่วยเซลล์ระบบประสาทเติบโต (Brain Nerve Growth Factors) จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุได้
ทั้งนี้ ผู้สูงอายุควรเลือกกิจกรรมที่ไม่ใช้แรงมากจนเกินไป อย่างการรดน้ำต้นไม้ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บและอันตรายจากการการทำสวน นอกจากนี้ หากมีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการออกกำลังกายที่เหมาะสม
รับสารอาหารที่มีประโยชน์จากพืชผักสวนครัว
การทำสวนมีหลายรูปแบบและให้ประโยชน์ที่แตกต่างกัน ซึ่งนอกจากการปลูกต้นไม้และดอกไม้เพื่อความสวยงามและเพิ่มสีสันให้กับที่อยู่อาศัยแล้ว การปลูกพืชผักสวนครัวเป็นการทำสวนอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยม เนื่องจากทำให้คนในครอบครัวได้รับประทานผักสดที่มีคุณค่าทางอาหาร ปลอดภัยจากสารเคมี และยาฆ่าแมลง แถมยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อผักมาประกอบอาหารในแต่ละวันอีกด้วย
การปลูกพืชสวนครัวควรคำนึงถึงพื้นที่และตำแหน่งที่ต้องการปลูก หากมีพื้นที่ไม่มากอาจเลือกปลูกพืชในกระถางต้นไม้ กระบะ หรือภาชนะเล็ก ๆ และอาจเริ่มปลูกพืชที่ปลูกง่ายและคนในครอบครัวชอบรับประทาน เช่น กะเพรา คะน้า และโหระพา เป็นต้น
รับวิตามินดีจากแสงแดด
การทำสวนยังเป็นกิจกรรมกลางแจ้งที่ช่วยให้กระตุ้นให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามินดีในแสงแดด โดยวิตามินดีมีส่วนช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัส จึงช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟันให้แข็งแรง และยังช่วยในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและเซลล์เม็ดเลือดอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การสัมผัสแสงแดดจัดเป็นเวลานานอาจทำให้ผิวไหม้ ผิวคล้ำเสีย เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนัง หรือเป็นลมแดดได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการทำสวนในช่วงเวลา 10.00–16.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีแสงแดดจัด
ผ่อนคลายความเครียดและความกังวล
หลายคนอาจทราบว่าการใช้เวลาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งชมบรรยากาศหรือการเดินเล่นในสวนช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลได้ การทำสวนก็มีส่วนช่วยให้สภาพจิตใจดีขึ้นได้เช่นกัน โดยมีงานวิจัยระบุว่า การทำสวนช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความเครียด ทำให้ผู้ทำสวนรู้สึกผ่อนคลาย และมีอารมณ์ให้แจ่มใสขึ้น
นอกจากนี้ การทำสวนเป็นหนึ่งในวิธีที่นำมาใช้บำบัดรักษาผู้ที่มีอาการวิตกกังวล โรคซึมเศร้า และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพในด้านอื่น ๆ โดยการทำสวนจะช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจ ทำให้เกิดการตั้งเป้าหมายและรับรู้ถึงคุณค่าในตัวเองมากยิ่งขึ้น
สร้างความสัมพันธ์ร่วมกับคนในครอบครัว
การทำสวนเป็นกิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันกับคนในครอบครัว ซึ่งช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันในวันหยุดสุดสัปดาห์ คุณพ่อคุณแม่อาจชวนลูก ๆ ไปช่วยรดน้ำต้นไม้ หว่านเมล็ดพืช และเก็บดอกไม้หรือผักสวนครัวมาทำอาหารรับประทานด้วยกัน
นอกจากนี้ พ่อแม่อาจสอนให้ลูกได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์จากการทำสวน ซึ่งจะทำให้เด็ก ๆ ได้ฝึกฝนพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อ การคิด การตัดสินใจ และความรับผิดชอบผ่านกิจกรรมที่สนุกสนานร่วมกับคนในครอบครัว
ทำสวนอย่างไรให้ปลอดภัย
การทำสวนเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพเช่นเดียวกับกิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ โดยก่อนเริ่มการทำสวน ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการทำสวนในรูปแบบต่าง ๆ ชนิดของต้นไม้ที่ต้องการปลูก และวิธีการดูแลต้นไม้ โดยเลือกปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่ในบริเวณที่อยู่อาศัยและความต้องการของผู้ปลูก เช่น ปลูกผักสวนครัว ปลูกไม้ดอก หรือปลูกต้นไม้ให้ร่มเงา เป็นต้น
ทั้งนี้ ควรดูแลความปลอดภัยของตัวเองและคนในครอบครัวขณะทำสวนด้วยวิธีต่อไปนี้
อบอุ่นร่างกายโดยการยืดกล้ามเนื้อให้ร่างกายพร้อมที่จะทำสวน แม้การทำสวนในบ้านมักไม่ได้ใช้แรงอย่างหนัก แต่การอบอุ่นร่างกายถือเป็นสิ่งจำเป็นก่อนการออกกำลังกายทุกชนิด เพราะจะช่วยป้องอาการหน้ามืด เป็นลม และลดความเสี่ยงของอาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อได้
ทาโลชั่นป้องกันยุงและแมลง และทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไปก่อนการทำสวนอย่างน้อย 15 นาที นอกจากนี้ ควรสวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายและสวมหมวกปีกกว้างเพื่อป้องกันแสงแดดและแมลงกัดต่อย
สวมถุงมือและรองเท้าที่ปิดบริเวณนิ้วเท้าและส้นเท้า เพื่อป้องกันการได้รับบาดเจ็บจากการขีดข่วนของต้นไม้และอุปกรณ์ทำสวน และสวมหน้ากากป้องกันการได้รับเชื้อแบคทีเรียฟรานซิเซลล่า ทูลารีซิส (Francisella Tularensis) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่พบในดิน หากสูดดมละอองที่ปนเปื้อนเชื้ออาจเป็นสาเหตุของโรคไข้กระต่าย (Tularemia) ได้
อ่านฉลากปุ๋ย น้ำยากำจัดวัชพืช หรือผลิตภัณฑ์เคมีต่าง ๆ ให้ละเอียด และใช้ในปริมาณที่ฉลากแนะนำเพื่อความปลอดภัย
ควรหยุดพักเป็นระยะเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ ขณะทำสวน และจิบน้ำบ่อย ๆ เพื่อป้องกันอาการขาดน้ำ
ระมัดระวังไม่ให้เด็กใช้สารเคมีต่าง ๆ และอุปกรณ์ทำสวนที่มีคม อย่างกรรไกรหรือมีด และหลังใช้งานเสร็จควรเก็บอุปกรณ์เหล่านี้ในตู้หรือห้องที่ปิดมิดชิด
ล้างมือให้สะอาดหลังจากการทำสวน เพื่อกำจัดสิ่งสกปรกและเชื้อโรคต่าง ๆ ที่อาจติดมากับมือและเล็บ
ทำสวนเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้าน ทั้งช่วยเสริมความแข็งแรงของร่างกายและจิตใจ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในครอบครัว ช่วยให้บ้านสวยงามร่มรื่น และยังให้ผลผลิตที่มีประโยชน์นำมารับประทานได้ด้วย ทั้งนี้ หากรู้สึกไม่สบายตัวหรือได้รับบาดเจ็บจากการทำสวน ควรหยุดพักและดูแลอาการ เมื่อหายดีแล้วค่อยกลับไปทำสวนอีกครั้ง
แหล่งอ้างอิง:https://mumeaw.com/garden/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%99/
https://www.baanlaesuan.com/250083/ideas/garden-ideas/therapeutic-garden
16 ส.ค. 2567
15 ส.ค. 2567
16 ส.ค. 2567
15 ส.ค. 2567